สภาเกษตรกรแห่งชาติ เข้าร่วมสังเกตการณ์การเข้าตรวจตู้คอนเทนเนอร์หมูเถื่อน จำนวน 161 ตู้ ร่วมกับ DSI กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และตัวแทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กรมศุลฯ เผยเตรียมพร้อมส่งด่านกักกันสัตว์ชลบุรี กรมปศุสัตว์ ทำลาย ภายหลังการตรวจสอบเสร็จสิ้น

สืบเนื่องจากการประชุมคณะทำงานประสานและติดตามการแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรเพื่อคุ้มครองความเป็นธรรมด้านปศุสัตว์ ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ของสภาเกษตรกรแห่งชาติ มีมติที่ประชุมให้กรมศุลกากรเปิดตู้คอนเทนเนอร์หมูเถื่อน จำนวน 161 ตู้ ตามข้อเรียกร้องของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เพื่อตรวบสอบว่ายังมีซากหมูแช่แข็งอยู่ครบถ้วนหรือไม่ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีหนังสือเชิญประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เข้าร่วมสังเกตการณ์การเปิดตู้คอนเทนเนอร์เพื่อตรวจสอบ

ต่อมา เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และนายรัตนะ สวามีชัย เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ มอบหมายให้ นายศรัณย์พงศ์ ฟุ้งเกียรติ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ นางปุญชิดา ธีรชนินกร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วม พร้อมด้วย ทนายวันชัย  บุนนาค และทนายนิวัตร วินัยวัฒนวงศ์ ผู้แทนสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปรึกษาคณะทำงานประสานและติดตามการแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรเพื่อคุ้มครองความเป็นธรรมด้านปศุสัตว์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ เข้าร่วมสังเกตการณ์ กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะสื่อมวลชน ได้ร่วมกันทำการตรวจตู้คอนเทนเนอร์ของกลาง ณ ท่าเทียบเรือ D1 ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบซากสัตว์ที่ยึดได้ทั้งหมด มีแหล่งกำเนิดจากต่างประเทศ และไม่มีแหล่งที่มาอย่างชัดเจน ประกอบกับไม่มีเอกสารรับรองการฆ่าสัตว์หรือสุขศาสตร์ของ   สัตวแพทย์ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดหรือพาหะของโรคระบาดสัตว์ ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศได้ ต่อมากรมศุลกากรได้มีหนังสือถึงกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในความผิดฐานนำเข้าซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ ที่ 59/2566 กรณี ขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ กรมศุลกากร จะมีหนังสือส่งมอบตู้สินค้าประเภทสุกรแช่แข็งตกค้าง ให้แก่ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี กรมปศุสัตว์ ภายหลังจากการตรวจสอบตู้สินค้าดังกล่าวเสร็จสิ้น และกรมปศุสัตว์จะนำไปทำลาย ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ประกอบระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการทำลายหรือจัดการโดยวิธีอื่นซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ที่นำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 ต่อไป เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่ถูกต้องต่อไป

———————————————–

ข่าว : ศดิศ พัลลภรักษา
ภาพ : ศดิศ พัลลภรักษา
อำนวยการข่าว : ศดิศ พัลลภรักษา