ข่าวประชาสัมพันธ์ประจำสัปดาห์วันศุกร์ที่ 2 กันยายน 2565

ข่าวประชาสัมพันธ์ประจำสัปดาห์วันศุกร์ที่ 2 กันยายน 2565

สภาเกษตรกรฯลงนามความร่วมมือการพัฒนาแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์บริการประมูลข้าวกลุ่มเกษตรกรและเครือข่ายสมาชิกสภา​เกษตรกร​ฯ

          นายประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวภายหลังเป็นพยานในการลงนามความร่วมมือ​ เรื่อง การพัฒนาแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์บริการประมูลข้าวกลุ่มเกษตรกร และเครือข่ายสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ระหว่าง สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยนายรัตนะ  สวามีชัย เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กับ บริษัท วิสาหกิจเพื่อสังคมเกษตรกรลุ่มน้ำปากพนัง จำกัด โดย นายณรงค์  คงมาก กรรมการผู้จัดการ ณ ห้องประชุมสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ​ ว่า​ ด้วยเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายคืออยากเห็นการปรับตัวของเกษตรกรและบุคลากรด้านการเกษตรมีความรู้เรื่องข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์และการจัดการระบบตลาดอิเล็กทรอนิกส์หรือตลาดออนไลน์ ซึ่งก่อนหน้าการลงนามนั้นได้มีการทดลองปฏิบัติการร่วมกันระยะหนึ่งกับกลุ่มชาวนาในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ และนครศรีธรรมราชมาแล้วประสบความสำเร็จด้วยดี จึงอยากขยายผลสำเร็จออกไป​เพื่อทำให้ตลาดสินค้าข้าวออนไลน์ได้กระจายออกไปให้กว้างขวาง​ ด้วยข้อตกลงตรงกันว่า “ข้าวที่เก็บไว้ในสต๊อกจะยังไม่สีจนกว่าจะมีออเดอร์เข้ามา เพราะเราอยากเห็นผู้บริโภคได้บริโภคข้าวที่สีใหม่และสด” (ปล่อย​เสียง​ นายป​ระพัฒน์)​

 

ประธานสภา​เกษตรกร​แห่งชาติ แนะราชการมีข้อมูลในมือ ควรเตรียมการ ซักซ้อมก่อนเกิดเหตุ ขณะขั้นตอนเยียวยาต้องกระชับและทันการณ์ บางพื้นที่ซ้ำซากเกษตรกรฟื้นตัวไม่ทัน

          นายประพัฒน์​  ปัญญา​ชาติ​รักษ์​ ประธาน​สภา​เกษตรกร​แห่งชาติ​ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยประสบปัญหามีพื้นที่น้ำท่วมขังเหตุจากปรากฎการณ์ลานีญา ทำให้ฝนมาเร็วส่งผลให้เกิดปริมาณน้ำฝนสะสมสูงมากขึ้น ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีทั้งพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับภาคกลาง หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เฝ้าติดตามเพื่อร่วมกันวางแผนกับประเมินสถานการณ์ แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถวางใจได้เพราะคาดว่ายังจะมีพายุเข้ามาอีกตามการคาดการณ์ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) (GISTDA )​ ส่วนราชการนั้นมีข้อมูลเรื่องปริมาณน้ำ พื้นที่เสี่ยง พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก และอื่นๆ ควรใช้ข้อมูลเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เรื่องแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า  การเตรียมการ การสำรองเมล็ดพันธุ์ การซักซ้อมทั้งเจ้าหน้าที่ ประชาชน เพื่อรับมือและบรรเทา​ รวมทั้งโครงการประกันภัย เพราะในอดีตที่ผ่านมาหลายครอบครัวได้รับเงินเยียวยาหรือชดเชยข้ามปี บางพื้นที่ซ้ำซากเกษตรกรฟื้นตัวไม่ทัน​ เพราะขั้นตอนของส่วนราชการ อยากให้เร็วและกระชับขึ้น​ กับควรให้ท้องถิ่นเข้ามาร่วมทำงานด้วย เพราะจะอยู่ใกล้ชิดกับชาวนา เกษตรกร ชาวบ้านมากกว่าส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคสามารถลดภาระลงได้

                      -​————————-

เสียง : วัฒนรินทร์ สุขีวัย

เทคนิค : สมชาย มารศรี

อำนวยการข่าว : อภิวัฒน์  มีลาภ