ย้ำราชการต้องไม่ลืมเจตนารมณ์ก.ม.“กัญชา” สภาเกษตรฯแนะขึ้นทะเบียน 30 วัน เสนอโครงการ 60 วัน หากพ้น 90 วัน จะผิดก.ม.ที่เปิดหน้า

          นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ภายหลังพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่เปิดทางให้ใช้พืชกัญชา–กระท่อมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10  ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562  ในฐานะตัวแทนเกษตรกรรู้สึกยินดี ชื่นชมและมีความสุขที่รัฐบาลเข้าใจ แล้วนำปัญหาที่หมักหมมมาช้านานไปปรับปรุงแก้ไข   “กัญชา” แม้เป็นยาแต่ยังคงเป็นยาเสพติดประเภท 5 อยู่ แต่กฎหมายเปิดทางให้นำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้  สิ่งที่กังวัลใจอย่างมากคือขั้นตอนการขึ้นทะเบียน ทราบกันอยู่ว่าเกษตรกรบ้านเราส่วนใหญ่เพาะปลูกอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกลไม่ค่อยเข้าใจเรื่องกฎ ระเบียบ กติกา หรือว่าขั้นตอนในการทำงานของภาคราชการเท่าใดนัก หากปล่อยให้เกษตรกรเตรียมดำเนินการเองก็มั่นใจว่าจะไม่มีเกษตรกรเครือข่ายไหนได้รับการพิจารณาเลย ภาคราชการจึงไม่ควรวางขั้นตอนซับซ้อนมากเกินไป ขอให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นหลักก็พอแล้ว

“ แนวโน้มกฎกระทรวงเท่าที่อ่านตามหน้าข่าว ดูเหมือนว่าค่อนข้างจะทำงานยาก อาทิเช่น เกษตรกรในเครือข่ายที่รักษาผู้ป่วยอยู่ ทั้งหมดหากเอกสารผิดหรือไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ทั้งหมดจะผิดกฎหมาย วัตถุดิบ อุปกรณ์ในการสกัดกัญชาทั้งหมดก็จะถูกทำลายทิ้งนั่นคือสิ่งที่เป็นห่วงมาก ภาคราชการไม่ควรใช้กฎระเบียบหยุมหยิมจนลืมเจตนารมณ์ของกฎหมายไป ” นายประพัฒน์ กล่าว

และด้วยคำนึงถึงความซับซ้อนขั้นตอนการขึ้นทะเบียนสภาเกษตรกรแห่งชาติจึงจะตั้งคณะทำงานเล็กๆขึ้นมาเพื่อเป็นพี่เลี้ยงและกระจายข่าวให้เข้าถึงเกษตรกรให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งจะเข้าประสานมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทย์ศาสตร์ เภสัชศาสตร์ ทันตกรรมศาสตร์ เป็นต้น ตามที่กฎหมายกำหนด ภาคกลางจะประสานมหาวิทยาลัยรังสิตโดยในวันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 10.00 น. จะเข้าพบ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี  ส่วนในภาคเหนือจะเข้าประสานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคอีสานมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาคใต้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ต่อไป จึงขอแนะนำเกษตรกรที่รักษาตนเอง ญาติพี่น้องและเครือข่ายด้วยพืชกัญชาอยู่ใช้เวลานี้รีบทำเอกสารประวัติของผู้ป่วยบันทึกเป็นทางการแล้วจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน โดยรวมตัวกัน 7 คนขึ้นไปแล้วไปที่เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอหรือกรมส่งเสริมการเกษตร แล้วเข้าไปหารือกับส่วนราชการเช่น อบต. อบจ. หรือหน่วยราชการของรัฐต่างๆ พร้อมกับสถาบันการศึกษาที่มีคณะแพทย์ศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์  คณะทันตแพทยศาสตร์ เพื่อที่จะเตรียมการทำโครงการเสนอ โดยต้องพยายามขึ้นทะเบียนให้เสร็จภายใน 30 วัน  อีก 60 วันสามารถทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ เช่น จัดสัมมนา พบปะ พูดคุยทำให้เข้าหลักเกณฑ์ ถูกต้องตามระเบียบราชการ ส่วนราชการต้องการเอกสารอะไรต้องปฏิบัติตามนั้น ต้องการให้มีแพทย์แผนปัจจุบันเป็นพี่เลี้ยงดูแล เก็บเอกสาร คอยชี้แนะการรักษาก็จะได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการได้ทันที หากไม่เสร็จสิ้นหลังจาก 90 วันไปแล้วจะกลายเป็นบุคคลผิดกฎหมายเช่นเดิม ซึ่งการผิดกฎหมายครั้งนี้จะเปิดเผยหน้าและตัวตน ด้วยเพราะทั้งหมดได้จดทะเบียนไว้แล้ว อาจจะถูกจับกุมดำเนินคดีได้

“ พี่น้องเกษตรกรต้องศึกษารายละเอียดให้ดี(http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/019/T_0001.PDF ) และการขึ้นทะเบียนครั้งนี้ไม่ใช่การเปิดเสรีกัญชา ไม่ใช่เพื่อสันทนาการเป็นการเปิดเพื่อใช้ทางการแพทย์และมีขั้นตอนในการขออนุญาต ที่เขียนเอาไว้ในกฎกระทรวงซึ่งบัดนี้เราเองก็ยังไม่เห็น แต่ขอท่านทั้งหลายใจจดใจจ่อคอยติดตามข่าวสาร ซึ่งสภาเกษตรกรแห่งชาติจะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมประสานในการเอาข้อมูลต่างๆกระจายไปถึงท่านโดยเร็ว ” ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวปิดท้าย

…………………………………………………………

ข่าว : วัฒนรินทร์ สุขีวัย

ภาพ / เทคนิค : สมชาย มารศรี / วัชร มีแสงเงิน

อำนวยการข่าว :  ภาสันต์ นุพาสันต์