สภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรีชี้เกษตรกรช้ำยกกำลัง 2 ทั้งภัยแล้ง + โควิด ใช้ศาสตร์พระราชาช่วยได้

                    นายธีระ วงษ์เจริญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี และประธานคณะกรรมการด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวถึงผลกระทบผลผลิตผลไม้จากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID -19) ว่า ตลาดหลักผลไม้ของไทยคือประเทศจีนแต่ยามนี้เกิดการระบาดของไวรัสโคโรนาแม้แต่ประเทศแถบยุโรปก็ส่งออกไปไม่ได้เหมือนกันเพราะสายการบินปิดการขนส่ง เกษตรกรมีความวิตกกังวลกับผลผลิตที่ออกมาในช่วงของเดือนมีนาคม คือ ทุเรียน มังคุด เงาะ ก่อนหน้านี้ลำไยได้รับผลกระทบไปแล้ว กอปรกับภัยแล้งจึงซ้ำเป็น 2 แรง โดยในขณะนี้เกษตรกรได้พยายามดูแลผลผลิตของตัวเองให้รอดจากภัยแล้งก่อน แล้วมองตลาดภายในประเทศโดยเฉพาะการกระจายผลผลิตในพื้นที่จังหวัดให้มากขึ้น รวมทั้งการใช้สถาบันเกษตรกร เช่น ระบบสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจแปลงใหญ่ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อตก.)ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์การตลาดของกระทรวงมหาดไทย ต้องเร่งหารือให้เร็วที่สุด หากผลผลิตออกมาแล้วจะแก้ไขปัญหาไม่ทัน ส่วนตลาดต่างประเทศซึ่งเป็นตลาดหลักเมื่อได้รับผลกระทบจะแก้ไขปัญหาได้ยาก แต่หากเตรียมความพร้อมในประเทศได้ก่อนส่วนต่างหรือเกินจึงค่อยดำเนินการต่อ ส่วนเรื่องราคาไม่อยากให้เกษตรกรมองย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับปีที่แล้วหรือ 2 ปีที่แล้ว ณ วันนี้ต้องประคองตัวเองให้รอดก่อน ซึ่งสภาเกษตรกรฯเองได้ทำความเข้าใจกับหลายภาคส่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยส่วนใหญ่เกษตรกรเห็นด้วยกับแนวคิดนี้

                    ทั้งนี้ ระยะที่ผ่านมาการพัฒนาการเกษตรในประเทศไทยเน้นการพัฒนาพืชเชิงเดี่ยวเกือบทั้งหมด เร่งการผลิตเพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิต , ขาย , ได้เงินจำนวนมากๆ ซึ่งวิธีการเหล่านี้ปีนี้ตอบโจทย์แล้วว่า “ไม่ใช่” การเกษตรแบบผสมผสานที่มีทุกอย่างที่เกื้อกูลกัน ควบคุมผลผลิตเพื่อปริมาณที่ไม่มากหรือน้อยเกินไปจึงจะอยู่รอดได้ หัวใจสำคัญของหลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอันดับแรกคือการจัดระบบการเกษตรที่เหมาะสมในพื้นที่ ต้องมีน้ำให้เพียงพอต่อการเกษตร ต้องมีการจัดระบบการปลูกพืชอย่างเหมาะสมกับปริมาณน้ำที่เพียงพอ ต้องมีการปลูกป่าเพื่อให้เกิดความชุ่มชื้นและความชื้นสัมพัทธ์ในพื้นที่การเกษตร ถึงแม้พื้นที่เพียงเล็กน้อยแต่หากมีอยู่มีกินก็สามารถยังชีวิตอยู่รอดได้ หากมีพื้นที่มากแต่ต้องขายเพื่อให้ได้เงินไปซื้อทุกอย่างในการทำการเกษตรลักษณะนี้ไปไม่รอด

                    “กรณีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด กรณีของภัยแล้งที่เกิดขึ้นส่งผลชัดเจนเลยว่าเราเดินมาผิดทาง เราปลูกพืชเชิงเดี่ยวและหวังผลจากรายได้จากพืชอย่างเดียว วันนี้ไม่ใช่แล้ว เกษตรผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้และทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง คือเป้าหมายสำคัญที่คณะกรรมการด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะทำเสนอต่อสภาเกษตรกรแห่งชาติและเสนอต่อรัฐบาล และวันที่ 7 – 8 มีนาคม นี้ จะมีการประชุมที่ จังหวัดมหาสารคาม เพื่อดูรูปแบบตัวอย่างของเกษตรกรที่ทำแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา โมเดล” สามารถอยู่รอดได้ โมเดลตัวอย่างเหล่านี้เกษตรกรทำสำเร็จได้ซึ่งจะนำเสนอเป็นตัวอย่างให้ทางสภาเกษตรกรฯพิจารณาเพื่อเสนอต่อรัฐบาลให้ดำเนินการขยายผลต่อไป” นายธีระ กล่าวปิดท้าย

…………………………………………………….

ข่าว : วัฒนรินทร์ สุขีวัย
ภาพ : วัชร มีแสงเงิน