กลุ่มเกษตรกรลงชื่อกว่า 10,000 ราย ขอนายกฯชะลอใช้ภาษีเกษตร 5 ปี

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2562) กลุ่มเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 629) พ.ศ.2560 ได้รวมตัวกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเข้ายื่นเอกสารรายชื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบและร้องขอให้พิจารณาช่วยเหลือ จำนวนกว่า 10,000 ราย โดยมีนายสาธิต สุทธิเสริม หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับมอบดังกล่าว  ภายหลังการยื่นเอกสารนางเยาวมาลย์​  ค้าเจริญ​  ประธานคณะกรรมการด้านปศุสัตว์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ด้วยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 629) พ.ศ.2560 ได้แก้ไขอัตราค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักเป็นการเหมาที่พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 จากเดิมหักได้ ร้อยละ 85 เปลี่ยนมาให้หักได้ร้อยละ 60 ซึ่งมีผลกระทบต่อเกษตรกรที่ประกอบอาชีพภาคเกษตร เช่น การทำป่าไม้ สวนยาง ไม้ยืนต้น การจับสัตว์น้ำ การทำเกษตรกรรมพืชล้มลุก การเลี้ยงสัตว์ การทำนาเกลือ ทั้งนี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติได้รับการร้องขอจากเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรต่างๆ เช่น สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ เครือข่ายโคเนื้อ กลุ่มชาวไร่อ้อยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์-เพชรบุรี สมาคมประมงแห่งประเทศไทย สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ สมาคมกลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมน้ำนมดิบ เป็นต้น เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตรเหล่านี้มีความเห็นว่าการประกอบอาชีพของพวกเขายังประสบปัญหาเป็นอย่างมากที่รายได้จากการจำหน่ายผลผลิตจะมีผลกำไรบ้างในรอบการผลิต และบางรอบการผลิตก็ขาดทุน แต่ในปีภาษีต่างๆนั้นไม่เคยได้กำไรถึงร้อยละ 40 ของราคาขายผลผลิต โดยข้อเท็จจริงนี้สามารถตรวจสอบได้จากข้อมูลเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) หรือเปรียบเทียบข้อมูลการคำนวณต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำฐานข้อมูลอ้างอิงภาคราชการ

ด้านนายณัฐวุฒิ ประทีปะวณิช สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 629) พ.ศ.2560 ได้ร่วมลงชื่อกว่า 10,000 ราย เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีที่มีเจตนาบริหารประเทศให้ประชาชนอันรวมถึงเกษตรกรด้วย ได้มีความเป็นอยู่ที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในการประกอบอาชีพต่อไปได้ก็ต้องให้เกษตรกรสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆได้ด้วย การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนแต่ก็ต้องเรียกเก็บอย่างสมเหตุสมผล การเรียกเก็บภาษีจากวงเงินร้อยละ 40 ของรายได้โดยให้ยินยอมให้หักค่าใช้จ่ายร้อยละ 60 ของรายได้นั้น เป็นการแตกต่างจากความเป็นจริงมาก จึงขอได้โปรดพิจารณาปรับค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินกลับไปใช้ร้อยละ 85  เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน หรือขอให้โปรดชะลอการบังคับใช้ออกไปอีก 5 ปี

………………………………………………………………………

ข่าว : วัฒนรินทร์ สุขีวัย

ภาพ : วัชร มีแสงเงิน

อำนวยการข่าว : นายภาสันต์ นุพาสันต์