สภาเกษตรกรเสนอนายกรัฐมนตรี กรณีภาษียอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน

         นายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 7/2560 เมื่อวันที่ 14-15 ธันวาคม 2560 ให้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบต่อเกษตรกรจากการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 629) พ.ศ. 2560 ซึ่งคณะทำงานฯได้ดำเนินการจัดประชุม ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 เพื่อพิจารณาผลกระทบต่อเกษตรกรจากการออกกฎหมายดังกล่าว โดยได้เชิญผู้แทนกรมสรรพากร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ข้อมูลและร่วมกันพิจารณา  ซึ่งในที่ประชุมเห็นว่า พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 629) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 กำหนดให้หักค่าใช้จ่ายโดยเหมาร้อยละ 60 เว้นแต่ผู้มีเงินได้จะแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้นก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร แต่ภาคเกษตรกรรมมีข้อจำกัดในการแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ประกอบกับจากข้อเท็จจริงจากข้อมูลเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตร ปี 2555–2559 ของศูนย์สารสนเทศเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่าเกษตรกรมีค่าใช้จ่ายจริงต่อรายได้เฉลี่ย 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 82.56 ซึ่งใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ที่กำหนดให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 80-85 ของเกษตรกรภาคการผลิต ที่ประชุมคณะทำงานจึงมีมติให้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาปรับปรุงกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินของภาคเกษตรกรรมจำนวน 7 รายการ ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว

นายสิทธิพร กล่าวต่อไปว่า สภาเกษตรกรฯ ได้นำมติของที่ประชุมคณะทำงานฯ จัดทำข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี คือเสนอให้พิจารณาปรับปรุงกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินของภาคเกษตรกรรม ตามรายการที่ระบุในมาตรา 8 กฎหมายดังกล่าว ซึ่งระบุผู้มีเงินได้จากภาคเกษตรกรรม จำนวน 7 รายการ คือ การทำน้ำตาล หรือน้ำเหลืองของน้ำตาล , การจับสัตว์น้ำ , การทำเกษตรกรรมประเภทไม้ล้มลุกและธัญชาติ , การอบหรือบ่มใบยาสูบ , การเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดรวมทั้งการขายวัตถุพลอยได้ ,  การฆ่าสัตว์จำหน่าย รวมทั้งการขายวัตถุพลอยได้ ,และการทำนาเกลือ ซึ่งจากกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายโดยเหมาร้อยละ 60 เป็นกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายโดยเหมาร้อยละ 85 เว้นแต่ผู้มีเงินได้จะแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร  โดยขอให้การพิจารณาปรับปรุงมีผลบังคับใช้ในการยื่นแบบภาษีเงินได้ปีปัจจุบัน เพื่อลดความเดือดร้อนของภาคเกษตรกรรมจากกฎหมายดังกล่าว

……………………………………………………………………………………..

ข่าว : วัฒนรินทร์ สุขีวัย

ภาพ : วัชร มีแสงเงิน

อำนวยการข่าว : ภาสันต์ นุพาสันต์