สภาเกษตรกรแห่งชาติหารือทูตพาณิชย์จีน สร้างความร่วมมือภาคเกษตร 2 ประเทศ

        นายประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวภายหลังประชุมหารือแนวทางสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศด้านสินค้าเกษตร ร่วมกับ นายหวาง ลี่ผิง อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และคณะ ณ​ ห้องประชุม 1 สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กรุงเทพฯ ว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติ​ต้องขอขอบคุณ นายหวาง ลี่ผิง อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและพาณิชย์ ที่กรุณามาหารือกัน โดยมี 3 เรื่องที่สภาเกษตรกรแห่งชาติ​ต้องดำเนินการ​ต่อจากนี้​ คือ เรื่องบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน สภาเกษตรกรแห่งชาติจะขอนัดหมายกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์​ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เพื่อผลักดันเร่งรัดให้เกิดบันทึก​ข้อตกลง​ความร่วมมือ​ระหว่าง​กันโดยเร็ว​ , การพูดคุยกับเกษตรกรเพื่อให้ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เหมาะสมสำหรับการส่งออก   และเรื่องการประสานงานความร่วมมือกันระหว่างเกษตรกรไทยและเกษตรกรจีน ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้สภาเกษตรกรแห่งชาติจะพยายามประสานพร้อมผลักดันต่อไป

          ขณะที่​ นายหวาง ลี่ผิง อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย​ ได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง​ประเทศ​ไทยและจีน​ ว่า​    ประเทศจีนกับประเทศไทยมีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกัน มีความร่วมมือกันในระดับรัฐบาล และระดับองค์กร ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา การค้าขายสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนมีมูลค่าถึง 12,000 ล้านบาท มองว่าการค้าในอนาคตระหว่างไทยกับจีนควรดำเนินการดังนี้

  1. การใช้ประโยชน์จากระบบการขนส่ง โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าเกษตรไทยมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น
  2. การเสริมสร้างและการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าเกษตร จะช่วยให้สินค้าไทยมีส่วนแบ่งตลาดในจีนเพิ่มมากขึ้น​ และ
  3. เมื่อปี 2564 นายสี จิ้นผิง​ ประธานาธิบดีของจีน ได้กล่าวในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ว่าจีนจะนำเข้าสินค้าเกษตรจากอาเซียน​ มูลค่า 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงเป็นโอกาสอันดีที่สินค้าเกษตรของไทยจะครองส่วนแบ่งตลาดในประเทศจีนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม​ ตลาดประเทศ​จีนมีความต้องการสินค้าเกษตรจากประเทศไทยเป็นอย่างมาก ในปี 2564 การส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปประเทศจีนเติบโตขึ้นถึง 52% แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสินค้าเกษตรไทย​ หากเพิ่มเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักในประเทศจีนมากขึ้น ก็จะทำให้สินค้าเกษตรของไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้นเช่นกัน​

          นายหวาง​ ลี่ผิง​ กล่าวต่อไปว่า​  สำหรับแนวทางเพื่อให้เกษตรกรไทยได้ผลิต ผลผลิต , ผลิตภัณฑ์ได้ตรงตามความต้องการตลาดของประเทศ​จีน​ ได้แก่

1) ทั้งสองฝ่ายควรดำเนินความร่วมมือกันตลอดกระบวนการผลิต เริ่มตั้งแต่การปลูก แปรรูป บรรจุหีบห่อ และจัดจำหน่าย

2) สภาเกษตรกรแห่งชาติควรเข้ามามีบทบาทสำคัญด้านการประสานความร่วมมือให้กับเกษตรกรและผู้ส่งออกของไทยเพื่อจัดแสดงสินค้าเกษตรไทยในเมืองใหญ่ๆ ของประเทศ​จีน เช่น เซี่ยงไฮ้ หนานหนิง เป็นต้น

3) การจับมือกับบริษัทจากประเทศ​จีนด้านการประชาสัมพันธ์และจำหน่ายสินค้าเกษตรไทยด้วยระบบออนไลน์

” เกษตรกรไทยมีความขยันขันแข็ง จะเป็นส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ​ไทยให้เติบโตได้เป็นอย่างดี ควรดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพและเพิ่มโอกาสด้านการผลิตสินค้าเกษตรให้ตรงตามความต้องการของตลาดประเทศ​จีน ซึ่งจะได้เริ่มดำเนินการร่วมกันกับสภาเกษตรกรแห่งชาติต่อไป ” อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและพาณิชย์ กล่าวปิดท้าย

………………………………………………………..

ข่าว : วัฒนรินทร์  สุขีวัย

ภาพ : วัฒนรินทร์  สุขีวัย / สมชาย  มารศรี

อำนวยการข่าว : อภิวัฒน์  มีลาภ