“ประพัฒน์” มองรัฐบาลและชาวนาต้องเข้าใจปัญหาให้ตรงกัน

         นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ในการประชุมคณะทำงานด้านข้าวและชาวนา ครั้งที่ 2/2562 ทำให้ทราบถึงสภาพปัญหาแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน โดยแบ่งปัญหาออกเป็น 2 ข้อ ได้แก่                 1.ปัญหาจากนโยบายของรัฐบาล ตั้งแต่การเก็บค่าพรีเมี่ยมข้าวเพื่อให้ค่าครองชีพในประเทศตกลง ต่ำลง ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้กับนักลงทุนมาลงทุนแต่ปรากฏว่าทำร้ายชาวนาทั้งระบบ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชาวนาก็ล่มสลายเพราะว่าที่ทำกินถูกยึด เอาตัวไม่รอด บ้านแตกสาแหรกขาดเพราะข้าวถูกกดราคาไว้โดยรัฐบาลนั่นเป็นสาเหตุแรกที่ทำให้เกิดการล่มสลายของกระบวนการชาวนาไทย   นอกจากนั้นก็ยังมีนโยบายอื่นๆตามมาที่ทำให้ชาวนาเผชิญปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในครัวเรือนตนเองมาตลอดเวลา  อาทิเช่น โครงการเปลี่ยนนาข้าวเป็นเกษตรผสมผสานให้ชาวนากู้เงินเพื่อขุดสระน้ำปลูกพืชผล เลี้ยงสัตว์โดยที่ไม่มีความพร้อม โครงการอีสานเขียว เป็นต้น เหล่านี้ทำให้ชาวนาเกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจยาวนานจนถึงบัดนี้ ประเทศชาติต้องสูญเสียเม็ดเงินอัดฉีดลงไปช่วยเหลือชาวนา อุ้มชาวนา เพราะชาวนาพึ่งตัวเองไม่ได้นับจากนั้นเป็นต้นมา

             2.ปัญหาจากตัวชาวนาเอง ขาดความกระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้ในการปรับปรุงคุณภาพการผลิต การรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ลดต้นทุนการผลิต ตกเป็นเหยื่อของคนกลาง เหยื่อบริษัทขายเคมีเกษตร ทั้งหมดล้วนแสวงหาประโยชน์จากชาวนาทั้งสิ้นจนชาวนากลายเป็นเหยื่อทางเศรษฐกิจมาตลอด

          นายประพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ด้านมาตรการช่วยเหลือชาวนาที่รัฐบาลประกาศสู่สาธารณชนมีความหลากหลายมากต้องขอขอบคุณแต่ทั้งหมดนั้นเป็นมาตรการช่วยเหลือระยะสั้น สิ่งที่สภาเกษตรกรแห่งชาติอยากเห็นคือการวางแนวทางในการแก้ปัญหาข้าวและชาวนาระยะกลางและระยะยาวเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ชาวนาสามารถพึ่งตนเองได้ในที่สุดและไม่เห็นด้วยที่ชาวนาจะแบมือรับเศษเงินจากรัฐบาลทุกปีทำให้ขาดศักดิ์ศรี ขาดความเป็นตัวของตัวเอง กลายเป็นเบี้ยล่างตลอด ระยะยาวต้องพยายามทำให้ชาวนาผงาดขึ้นมาและพึ่งตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมฯได้ปรับความคิดให้ตรงกันทุกคนเพื่อให้เข้าใจปัญหาของชาวนาอย่างแท้จริงแล้วตกผลึกจนให้นำไปสู่การจัดทำแนวทางเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวส่งต่อยังนายกรัฐมนตรีเพื่อให้เข้าใจปัญหาของชาวนาตรงกันต่อไป

“ โดยระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสินเชื่อชาวนาเอาตัวไม่รอดแน่ เพราะฉะนั้นชาวนาต้องดิ้นรนเพื่อไปหารายได้เสริมทางอื่น เช่น หลังนาไปรับจ้าง ไปเป็นแรงงานเร่ร่อน ลูกต้องหนีจากครอบครัวไปรับจ้างที่อื่นเพื่อเอาเงินมาดูแลครอบครัว  จะเห็นว่าชาวนาส่วนใหญ่เป็นครอบครัวแตกเพราะอาชีพทำนาไม่พอค่าใช้จ่ายจริงๆ ปัญหาเดิมพอกปัญหาเก่ามีมากพออยู่แล้ว ยังจะปัญหาภัยแล้ง บางพื้นที่น้ำท่วม วิกฤตการณ์ราคาพืชผลผลิต ยิ่งกดให้ชาวนาย่ำแย่ ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่สภาเกษตรฯจะต้องนำข้อมูลสะท้อนให้รัฐบาลได้รับทราบ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเป็นเพราะรัฐบาลคิดและสั่งการจากบนลงมา ชาวนาไม่มีความพร้อม เช่น การใช้ปุ๋ย/สารเคมีตามการชวนเชื่อของเซลล์ ปุ๋ย/ยาบางตัวไม่จำเป็นต้องใช้ขนาดนั้น ชาวนาเจ็บป่วยจากการสัมผัสสารเคมีโดยไม่มีการกวดขัน , ต้นทุนการผลิตสูงจากราคาปัจจัยการผลิตที่รัฐไม่ค่อยมีส่วนช่วยให้ชาวนามีอำนาจต่อรอง ,  มีภาระหนี้สินจากสินเชื่อที่คิดดอกเบี้ย 7-9 %  , รัฐบาลมักใช้มาตรการระยะสั้น เช่น ชะลอการขาย ลดดอกเบี้ย พักหนี้ ให้กู้เพิ่ม ทำให้สูญเสียเม็ดเงินในการอัดฉีดลงมาในขณะที่ชาวนาต้องการมาตรการช่วยเหลือระยะกลางและระยะยาว สำหรับข้อเสนอมีความเห็นว่าให้มีการจัดทำแผนแม่บทด้านข้าวในระดับจังหวัดเพื่อหาอัตลักษณ์ท้องถิ่นเพื่อจะผลิตข้าวให้แตกต่างตามภูมินิเวศตนเองแล้วร่วมวิจัยพัฒนา , จัดทำแผนแม่บทน้ำสำหรับชาวนาเพื่อให้จัดการน้ำในชุมชนเองได้ , การมีมิสเตอร์อุตุนิยมฯทุกตำบล , มีศูนย์ข้อมูลชาวนาไทย , การจัดมหกรรมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมข้าวไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง , ส่งเสริมการรวมกลุ่มทำการตลาดร่วมกันเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรอง , ดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อชาวนาควรลดลงเพื่อไม่ต้องนำรายได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งจากการขายข้าวไปชำระดอกเบี้ย เป็นต้น ” นายประพัฒน์ กล่าวปิดท้าย

   …………………………………………….

ข่าว : วัฒนรินทร์ สุขีวัย

ภาพ / วีดีโอ : วัชร มีแสงเงิน

อำนวยการข่าว : ภาสันต์ นุพาสันต์ / เดชา บุญโต