

“ปลานิล” (Oreochromis niloticus) เป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ไขมันต่ำ เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว โดยคนไทยนิยมบริโภคปลานิลสูงถึง 30% ของการบริโภคปลาทั้งหมด และการเลี้ยงปลานิลคิดเป็น 42% ของผลผลิตการเลี้ยงสัตว์น้ำจืดทั้งหมด อย่างไรก็ดี อุปสรรคสำคัญของการเพาะเลี้ยงปลานิลก็คือ “โรคในปลานิล” เนื่องจากเกษตรกรนิยมปล่อยหนาแน่นมากและขาดการจัดการที่ดี หากปลานิลเป็นโรคแล้วโอกาสที่จะรักษานั้นทำได้ยากมาก และการใช้ยาปฏิชีวนะก็ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นมากจนอาจทำให้ผู้เลี้ยงไม่สามารถแบกภาระได้ รวมทั้งไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
“นาโนวัคซีนป้องกันโรคสำหรับปลานิล” ได้รับการพัฒนาคิดค้นขึ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อในปลานิลด้วยวิธีที่ง่าย ไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์และวิธีการที่ยุ่งยากซับซ้อน ด้วยการให้วัคซีนแอนติเจนเข้าสู่ตัวปลาทางระบบเยื่อเมือกต่างๆ ด้วยวิธีการจุ่มแช่ลงในน้ำ สามารถให้วัคซีนแก่ปลาได้ตั้งแต่วัยอ่อนในระยะ Fingerling หรือ Fry ได้ จึงมีความสามารถในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของปลาและมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรค และครอบคลุมการป้องกันการติดเชื้อได้หลายชนิด รวมถึงมีต้นทุนการผลิตต่ำ สามารถแข่งขันเชิงพาณิชย์ได้
- มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคจากการติดเชื้อได้สูง และครอบคลุมการป้องกันการติดเชื้อได้หลายสายพันธุ์
- บริหารวัคซีนได้ง่าย โดยการจุ่มแช่จึงทำให้สามารถให้วัคซีนแก่ปลาวัยอ่อนได้ตั้งแต่ระยะ Fingerling หรือ Fry
- ราคาต้นทุนในการผลิตไม่สูงมาก
- มีทีมนักวิจัยคอยช่วยเหลือในการถ่ายทอดเทคโนโลยี
- ผู้ผลิตและจำหน่ายวัคซีนสำหรับสัตว์น้ำ
- กรมประมง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล
- ผู้สนใจทั่วไป