สภาเกษตรกรฯเดินหน้าปั้นเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ หลังพบเกษตรกรรากหญ้าส่วนใหญ่ไม่รู้จักการแปรรูปผลผลิตการเกษตร

                นายเสน่ห์ วิชัยวงษ์ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวภายหลังลงพื้นที่เพื่อติดตามงานภายใต้“โครงการปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทย (SMEs เกษตร) ตามแนวประชารัฐ” ระหว่างวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2561 ณ ห้องประชุมวังสามหมอ อ.วังสามหมอ /ศาลาวัดมหาธาตุเทพจินดา อ.กุมภวาปี และห้องประชุมเทศบาลตำบลหัวนาคำ อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี ว่า จ.อุดรธานีเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกมันสำปะหลัง อ้อย ข้าว ขายเป็นวัตถุดิบเรื่องราคาเป็นไปตามกลไกตลาด ไม่แน่นอน ไม่นิ่ง เรื่องการแปรรูปเป็นเรื่องใหม่มาก การจัดอบรมบ่มเพาะการเป็นผู้ประกอบการภายใต้ “โครงการปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทย (SMEs เกษตร) ตามแนวประชารัฐ” จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ โครงการดังกล่าวเป็นการร่วมมือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหวังยกระดับกลุ่มเกษตรกร , เกษตรกรให้สามารถแปรรูปผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการปรับเปลี่ยนจากการขายผลผลิตในรูปวัตถุดิบที่ได้ราคาต่ำเป็นการทำเกษตรอุตสาหกรรมที่มีการเชื่อมโยงตั้งแต่การผลิต การแปรรูปจนถึงการตลาดอย่างครบวงจร ขณะเดียวกันยังมุ่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มเกษตรแปรรูปเพื่อให้มีความพร้อมที่จะเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่มีความรู้ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณภาพ เข้มแข็ง มั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี   โดยในระหว่างการอบรมได้สอบถามเกษตรกรพบว่าส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าผลผลิตของตนเองสามารถแปรรูปได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐต้องเร่งปฏิรูปเพื่อให้เกษตรกรไทยหลุดพ้นจากกับดักด้านราคาที่มีความเหลื่อมล้ำอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ สภาเกษตรกรฯมีเป้าหมายการอบรมบ่มเพาะการเป็นผู้ประกอบการให้กับตัวแทนองค์กรเกษตรกร จำนวน 600 องค์กร เกษตรกรทั่วไป จำนวน 55,000 คน โดยสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันดำเนินการอบรมไปแล้ว 20 จังหวัด 94 ครั้ง 9,681 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กรกฎาคม 2561)  ซึ่งกิจกรรมต่อไปคือการคัดเลือกเกษตรกรโดยพิจารณาจากความพร้อมและศักยภาพของกลุ่มเพื่อเข้าเรียนรู้การแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบการเกษตรให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น เป้าหมาย จำนวน 300 องค์กร และจะนำสู่การจัดตั้งหน่วยผลิตอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปต้นแบบในพื้นที่ จำนวน 50 องค์กรต่อไป

ด้านนายชัยรัตน์ โสดา หัวหน้าสภาเกษตรกรจังหวัดอุดรธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรให้ความสนใจในการเข้าอบรมบ่มเพาะการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการความรู้เรื่องของการแปรรูปวัตถุดิบเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องแหล่งเงินทุน เพราะถ้าไม่มีทุนประกอบการ เครื่องจักรกล ก็จะทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เกษตร หรือจัดตั้งโรงงานได้ยากมาก พอมีโครงการนี้เข้ามาในพื้นที่เกษตรกรก็เห็นโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

……………………………………………………………………………..

ข่าว : วัฒนรินทร์ สุขีวัย

ภาพ : สมชาย มารศรี / ปชส.สกจ.อุดรธานี

อำนวยการข่าว : ภาสันต์ นุพาสันต์