สภาเกษตรฯ พา พรบ.กองทุนยุติธรรมที่พึ่งเกษตรกรให้เข้าถึงความเป็นธรรมยามยาก

นายคงฤทธิ์ บัวบุญ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ในการแข่งขันทางการเกษตร สิทธิเกษตรกร สิทธิที่ดินทำกิน และหนี้สินเกษตรกร สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า กองทุนยุติธรรมจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชน เกษตรกร คนยากไร้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น โดยมีระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยกองทุนยุติธรรม พ.ศ.2549 ซึ่งต่อมาสภาเกษตรกรฯร่วมกับเครือข่ายได้เสนอเป็นร่างพรบ. ปัจจุบันคือ พรบ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ.2558 ให้การสนับสนุนเงินกองทุนยุติธรรมเป็นหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราว ค่าจ้างทนายความ ค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการต่อสู้คดีความในชั้นศาล ซึ่งทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยจะต้องใช้จ่าย เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ตนเอง ทุกขั้นตอนล้วนมีค่าใช้จ่าย ในกรณีที่มีกำลังทรัพย์เพียงพอก็จะมีเงินมาใช้จ่ายได้ แต่สำหรับบางคนมีชีวิตยากลำบากไม่มีเงินมาใช้จ่าย แม้รู้ว่าตัวเองไม่ได้ทำผิด แต่ก็ต้องปล่อยให้คดีดำเนินไปถึงขั้นติดคุกฟรี บางคนไปกู้ยืมเงินมาต่อสู้คดีจนกลายเป็นหนี้สิน ในขณะที่บางคนไม่มีเงินมาประกันตัวก็จะต้องถูกคุมขังระหว่างรอการตัดสินของศาล “กองทุนยุติธรรม” เป็นกองทุนที่ช่วยเหลือให้กับทั้งผู้ที่เป็นโจทก์และจำเลย มีเงินใช้ในการดำเนินคดีต่างๆ เช่น มีเงินประกันตัว(การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย) / ค่าทนายความ(ในคดีอาญา แพ่ง ปกครองหรือบังคับคดี) / ค่าธรรมเนียมศาลและค่าธรรมเนียมอื่นๆ /ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์ หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ / ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าพาหนะเดินทาง ที่พัก /การคุ้มครองพยานช่วยเหลือให้ได้รับความปลอดภัย/ความเสียหายจากการกระทำความผิดอาญา ปกครอง หรือละเมิดที่กระทบต่อประชาชนหรือกลุ่มบุคคลตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป หรือกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม / สนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายอื่นตามวัตถุประสงค์ ซึ่งก่อนจะอนุมัติเงินช่วยเหลือให้กับใคร เจ้าหน้าที่นิติกรของกองทุนฯจะต้องตรวจสอบประวัติก่อนว่าบุคคลนั้นๆมีรายได้เท่าไหร่และมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง รวมถึงไม่มีสถานะทางสังคมใดๆที่จะต่อสู้คดีความได้ โดยจะเข้าดูพื้นที่จริงของผู้มาขอรับความช่วยเหลือ ถ้าลำบากจริงๆก็จะให้ความช่วยเหลือ แต่ถ้าพอมีฐานะอยู่บ้างก็จะไม่ได้รับความช่วยเหลือเพราะจะได้นำเงินไปช่วยเหลือคนที่ยากลำบากมากกว่า

“ด้วยบทบาทของสภาเกษตรกรฯที่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในระดับอำเภอ ตำบล ซึ่งจะมีผู้แทนในทุกระดับชั้น เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากการมีสภาฯในพื้นที่ของตนโดยอาศัยกรอบกฎหมายพรบ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 ฉบับนี้เข้ามาช่วยเหลือได้ในทุกขั้นตอน โดยสภาฯได้ใช้กลไกสร้างความเข้าใจ เข้าถึงเกษตรกรหากมีปัญหาไม่ได้รับความเป็นธรรม ผู้แทนในระดับต่างๆจะเข้าไปช่วยเหลือ ดูแล โดยเกษตรกรสามารถให้สภาเกษตรกรจังหวัดในพื้นที่ประสานให้ได้เข้าถึงความยุติธรรม เพื่อให้เกิดกระบวนการแก้ปัญหาความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรได้” นายคงฤทธิ์ กล่าว

 

ข่าว : วัฒนรินทร์ สุขีวัย
อำนวยการข่าว : ภาสันต์ นุพาสันต์