สภาเกษตรกรฯมองภาครัฐไม่บูรณาการงานกัน ระบบจัดการปาล์มน้ำมันจึงยังไม่พร้อมใช้

นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ  เปิดเผยว่า จากผลวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลงประจำเดือนตุลาคม 2560 พบว่า ลดลงร้อยละ 2.42 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา  หนึ่งในนั้นรวมถึงปาล์มน้ำมัน โดยลดลงเนื่องจากภาวะการค้ายังชะลอตัวและสต็อกน้ำมันอยู่ในเกณฑ์สูง ขณะที่ดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น  สำหรับสถานการณ์ของปาล์มน้ำมันนั้นส่วนตัวมองว่าระบบการจัดการยังไม่พร้อม ด้วยหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ต่างๆ ยังไม่บูรณาการงานเข้าด้วยกันเช่น ฐานข้อมูลพื้นที่ , ผลผลิต , ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil : CPO)  หากไม่รู้ข้อมูล ณ ปัจจุบันที่ชัดเจนแน่นอน พอจะนำไปใช้การจัดการจะเป็นปัญหา เรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องก็จะไม่ถูกต้องและไม่เป็นระบบ  เช่น การนำน้ำมันปาล์มไปใช้ในส่วนพลังงานสำหรับการผลิตน้ำมันดีเซล B5 หรือ B7 อย่างไรให้เหมาะสมกับสต็อค CPO เป็นต้น    ในส่วนการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม พ.ศ….. เพื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น ประเด็นที่ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติจะนำเสนอที่สำคัญสุดคือ มาตรา 14 ในส่วนของอำนาจหน้าที่ ซึ่งเดิมแล้วสภาเกษตรกรฯได้เขียนไว้ในฉบับร่างพระราชบัญญัติปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม พ.ศ…..ว่าคณะกรรมการปาล์มน้ำมันแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการ แต่ในร่างพ.ร.บ.ฉบับที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมีแค่ส่วนของหน้าที่เท่านั้นไม่มีอำนาจในการดำเนินการแต่อย่างใด ส่วนประเด็นอื่นจะนำเสนอในหลักการ  ทั้งนี้ สิ่งสำคัญสำหรับเกษตรกรเรื่องการผลิตปาล์มน้ำมันต้องจัดการให้เป็นปาล์มคุณภาพและทำปาล์มที่ถูกหลักเพื่อการเพิ่มผลผลิตและปริมาณน้ำหนัก ถ้าตัดผลปาล์มสุกก็จะมีน้ำหนักและเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงขึ้นราคาก็จะสูงตามไปด้วย

                                    ……………………………………………………………………….

ข่าว : วัฒนรินทร์ สุขีวัย

ภาพ : วัชร มีแสงเงิน

อำนวยการข่าว : ภาสันต์ นุพาสันต์